วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ธ.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ธ.ค. 2567
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอนจัดงานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรม Tivoli กรุงสิสบอน โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยคณะทูตานุทูต ภาครัฐโปรตุเกส ภาคท้องถิ่นโปรตุเกส และภาคส่วนที่มีส่วนในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส อาทิ ภาคเอกชน อาจารย์และนักศึกษา รวมถึงชุมชนไทยที่พำนักในโปรตุเกส และกลุ่มเพื่อนของประเทศไทย รวมประมาณ 150 คน
ในการนี้ น.ส. สุภาพรรณ เตียพิริยะกิจ อุปทูตรักษาการ ได้กล่าวถึงความสำคัญของวันที่ 5 ธันวาคมและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย โดยสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลกเพื่อรำลึกถึงพระปรีชาสามารถที่เป็นคุณูปการต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่ติดต่อกับไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1511 ส่งผลให้วัฒนธรรมโปรตุเกสได้ผสานและปรากฏในวัฒนธรรมและสังคมไทย เช่น ร่องรอยศิลปวัฒนธรรมและชุมชนโปรตุเกสในไทย อาหารไทยที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส ในขณะเดียวกัน ในโปรตุเกสมีชุมชนไทยและเอกชนไทยและบุคลากรภาควิชาการของไทยที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโปรตุเกสเช่นกัน รวมถึงรัฐบาลไทยได้มอบศาลาไทยแก่โปรตุเกสในโอกาสครบรอบ 500 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งในทุกปี สถานเอกอัครราชทูตได้จัดงานเทศกาลไทย ณ บริเวณศาลาไทย โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคท้องถิ่นกรุงลิสบอน รวมถึงการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวโปรตุเกสเดินทางไปไทยกว่า 52,000 คน และไทยหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะได้จัดการประชุม Political Consultations ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของความสัมพันธ์ทวิภาคีต่อไป
ในระดับไตรภาคี โปรตุเกสและไทยได้ริเริ่มเสริมสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศที่สาม เมื่อคำนึงถึงบทบาทที่เข้มแข็งของไทยในด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบทบาทของโปรตุเกสในด้านนี้ โดยเฉพาะความช่วยเหลือที่ให้แก่กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส
ในระดับพหุภาคี ไทยยึดมั่นต่อการมีบทบาทที่สร้างสรรค์และเป็นสะพานเชื่อมเพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้หมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไทยขอบคุณสมาชิกสหประชาชาติรวมถึงโปรตุเกสที่สนับสนุนให้ไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2025-2027 นอกจากนี้ UNESCO ได้บรรจุให้ ต้มยำกุ้ง อยู่ในบัญชีรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งแขกผู้มีเกียรติจะได้ลิ้มลองในงานเลี้ยงรับรองด้วย
สถานเอกอัครราชทูตได้ส่งเสริมการเผยแพร่ soft power ไทยในโปรตุเกส โดยนำเสนอ ผลงานการแกะสลักผลไม้ และอาหารไทยต้นตำรับจากร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select ได้แก่ ต้มยำกุ้ง (ร้าน Baan Saraiva’s) ผัดไทย (ร้านศาลาไทย) และทอดมันปลา (ร้าน Siam Square) รวมถึงขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส ได้แก่ ลูกชุบ เม็ดขนุน (ร้าน Cozinha da Bow) กะหรี่พัฟ (ร้านคิดถึงขนมไทย) และขนมไทยต้นตำรับที่เป็นที่นิยมของชาวโปรตุเกส ได้แก่ ข้าวเหนียวมะม่วง (ร้าน Cozinha da Bow) รวมถึงนำเสนอเครื่องดื่มค้อกเทลสมุนไพรที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาหารไทย ได้แ่ก่ รสต้มยำ และรสผัดไท (ร้าน Siam Square) ด้วย ซึ่งอาหารไทยคาวหวานและเครื่องดื่มค็อกเทลของไทยได้รับความสนใจจากแขกผู้มาร่วมงานเป็นอย่างดี
รูปภาพประกอบ