ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกอาณาจักร

ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกอาณาจักร

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,107 view

คำถามที่ถามเป็นประจำเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

1. การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมีประโยชน์อย่างไร ?

  •   การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการสนับสนุนให้คนไทยในต่างประเทศที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้มีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันกับคนไทยภายในประเทศ ในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

2.เงื่อนไขของการใช้สิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศ คืออะไร ?

(1) ท่านต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 คือ
                 -  มีสัญชาติไทย หากได้สัญชาติโดยการแปลงสัญชาติต้องได้รับสัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
                 -  เป็นผู้มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง และ
                 -  เป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
(2) ต้องแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรต่อเอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ หรือนายทะเบียนอำเภอ/นายทะเบียนท้องถิ่น หรือผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานไทย กระทรวงแรงงาน ภายในวันถัดจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปมีผลบังคับใช้

 

3. การใช้สิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศต้องมีการลงทะเบียนล่วงหน้า อยากทราบว่าระยะเวลาการลงทะเบียนเริ่มและสิ้นสุดเมื่อใด ?

ตามข้อกำหนดคณะกรรมการการเลือกตั้ง การลงทะเบียนสามารถกระทำได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ดี การจะใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนั้นๆ ได้ ท่านต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนภายในวันถัดจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งครั้งนั้นๆ มีผลบังคับใช้  แต่หากท่านได้เคยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนแล้ว และมิได้แจ้งความประสงค์ขอถอนชื่อกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศไทย  ชื่อของท่านก็ยังคงปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้

4. การขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ?

ต้องแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิฯ โดยกรอกแบบคำร้องขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร   พร้อมแนบเอกสารหรือสำเนาเอกสารหลักฐาน อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ 
           (1) บัตรประจำตัวประชาชน 
           (2) หนังสือเดินทาง
           (3) บัตรประจำตัวที่มีภาพถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักที่ออกให้โดยทางราชการ 
                 รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอิสระ
เพื่อยื่นต่อเอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ หรือนายทะเบียนอำเภอ/นายทะเบียนท้องถิ่น หรือผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานไทย กระทรวงแรงงาน  ด้วยตนเอง หรือทางโทรสาร หรือทางไปรษณีย์ หรือทำหนังสือมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน
          ที่สำคัญ ควรระบุที่อยู่ของท่านในต่างประเทศให้ถูกต้องและชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าท่านจะได้รับเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่จะส่งถึงทางไปรษณีย์ ซึ่งรวมถึงบัตรเลือกตั้งด้วย (ในกรณีที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ กำหนดให้เลือกตั้งทางไปรษณีย์)

5. การขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนั้นจะขอกับทางการก่อนเดินทางออกจากประเทศไทยได้ หรือไม่ ?

 ได้ โดยแจ้งที่สำนักทะเบียนอำเภอ/สำนักทะเบียนท้องถิ่น ประจำภูมิลำเนาที่ท่านมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน  หากท่านเป็นแรงงานไทยที่กำลังจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  สามารถแจ้งได้ที่สำนักบริหารแรงงานไทย  กรมการจัดหางาน  กระทรวงแรงงาน (หากเดินทางออกไปจากประเทศไทยแล้ว สามารถแจ้งได้ที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ของไทย)

6. ถ้าย้ายออกจากประเทศที่ได้ยื่นขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้ และต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศที่อยู่ใหม่ ต้องทำอย่างไร ?

ท่านต้องแจ้งขอ “เปลี่ยนแปลงสถานที่ใช้สิทธิ” โดยอาจแจ้งที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ที่ท่านลงทะเบียนไว้ หรือสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ ในประเทศที่ท่านย้ายไปอยู่ใหม่ก็ได้ หรือแจ้งได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอ/สำนักทะเบียนท้องถิ่น ประจำภูมิลำเนาที่ท่านมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือที่สำนักบริหารแรงงานไทย กระทรวงแรงงาน

7. ถ้าย้ายกลับประเทศไทย ต้องทำอย่างไร ?

หากท่านกำลังจะย้ายกลับประเทศไทย สามารถแจ้งขอถอนชื่อต่อสถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ที่ท่านลงทะเบียนไว้ เพื่อกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศไทย แต่หากท่านเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว โดยยังไม่ได้แจ้งขอถอนชื่อก่อนเดินทางกลับ สามารถขอถอนชื่อฯ ได้ โดยแจ้งต่อสำนักทะเบียนอำเภอ/สำนักทะเบียนท้องถิ่น ประจำภูมิลำเนาที่ท่านมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือหากท่านเป็นแรงงานไทย สามารถแจ้งได้ที่สำนักบริหารแรงงานไทย กระทรวงแรงงาน

8. ถ้าลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้ แต่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ จะหมดโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งต่อไปหรือไม่ ?

ไม่  เพราะการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เป็นเหตุให้ท่านเสียสิทธิในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งถัดไป แต่ท่านจะเสียสิทธิทางการเมือง 8 ประการ นับตั้งแต่วันที่ไม่ไปเลือกตั้ง จนถึงวันที่ท่านไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งต่อไป ท่านสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ect.go.th/

9. ถ้าไม่มีสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ของไทยในประเทศหรือเมืองที่อยู่ จะเลือกตั้งได้อย่างไร ?

ประเทศไทยมีสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ อยู่ 88 แห่งใน 63 ประเทศ ทั่วโลก  ซึ่งดูแลครอบคลุมประเทศต่างๆ กว่า 88 ประเทศ  ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าประเทศที่ท่านอาศัยอยู่นั้น จะอยู่ภายใต้การดูแลของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งแน่ ดังนั้น ขอให้ท่านโปรดติดต่อสอบถามสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ ที่ท่านสะดวกเพื่อลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งโดยดำเนินการตามข้อ 5 และแจ้งที่อยู่ของท่านในต่างประเทศให้ถูกต้องและชัดเจน เพื่อที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ จะได้ติดต่อแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ท่านทราบได้ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข่าวสารดังกล่าวทางสื่อต่างๆ เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ อยู่เสมอ
         สำหรับการใช้สิทธิเลือกตั้งฯ นั้น สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่จะอำนวยความสะดวกโดยท่านอาจใช้สิทธิเลือกตั้งทางไปรษณีย์ หรือจัดหน่วยเลือกตั้งสัญจรเดินทางมายังเมืองที่ท่านอาศัยอยู่ก็ได้

10. ถ้าต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรสามารถติดต่อได้ที่ไหน

  1. ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กรมการกงสุล (โทร. (+66)2-575-1039-44)
  2. สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ของไทย 94 แห่งทั่วโลก (ที่อยู่ติดต่อ โปรด คลิก ที่นี่) สำหรับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลิสบอน สามารถติดต่อได้ที่ (โทร (+351)21 301 4848)
  3. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (โทร. (+66)2-613-7333)