IMF เผยแพร่รายงาน The First Post-Program Monitoring with Portugal

IMF เผยแพร่รายงาน The First Post-Program Monitoring with Portugal

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มี.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,754 view

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 58 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกเผยแพร่รายงาน The First Post-Program Monitoring with Portugal และการประเมินผลโดยคณะกรรมการบริหารของ IMF  สรุปสาระสำคัญของรายงานดังกล่าวได้ดังนี้

1.      มาตรการความช่วยเหลือทางการเงิน (จาก Troika: IMF/EU/ECB) ซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมิ.ย. 2014 รวมทั้งมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ประสบผลสำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจโปรตุเกสมีเสถียรภาพและสามารถกู้ยืมผ่านตลาดเงินระหว่างประเทศได้ในต้นทุนที่ต่ำลง

2.      IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโปรตุเกสในปี 2014 จะเติบโตร้อยละ 0.8 จากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงไม่ฟื้นตัว การนำเข้าซึ่งเริ่มเพิ่มขึ้นจากความต้องการบริโภคในประเทศ ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเล็กน้อย นอกจากนี้ โปรตุเกสมีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณเท่ากับร้อยละ 3.9 ของ GDP ส่วนอัตราการว่างงาน ณ สิ้นสุดไตรมาส 3/2014 ลดลงเหลือร้อยละ 13.1 จากระดับสูงสุดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้อยละ 17.5 รวมทั้งอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ลดลงเหลือร้อยละ 114 จากร้อยละ 140 ในช่วงสูงสุดก่อนวิกฤตฯ

3.      IMF คาดว่า ในปี 2015 เศรษฐกิจโปรตุเกสจะเติบโตร้อยละ 1.2 โดยการบริโภคภายในประเทศจะยังเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับลดลงเล็กน้อย และการขาดดุลงบประมาณจะเท่ากับร้อยละ 3.4 ของ GDP

4.      อย่างไรก็ตาม โปรตุเกสเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านลบทั้งภายในและภายนอกประเทศโดยปัจจัยภายใน ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอจากระดับหนี้สาธารณะและหนี้ภาคเอกชนที่ยังสูง การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำ และความเสี่ยงทางการเมืองและกฎหมายที่อาจกระทบต่อมาตรการทางการคลัง ส่วนปัจจัยภายนอก คือ ความผันผวนของตลาดการเงินและตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้โปรตุเกสไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้อีก ทั้งนี้ รัฐบาลโปรตุเกสควรเร่งควรเร่งรัดการปฏิรูปต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นและมีภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

5.      คณะกรรมการบริหารของ IMF มีความเห็นต่อเศรษฐกิจโปรตุเกส ดังนี

5.1 โปรตุเกสสิ้นสุดการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินฯ เมื่อเดือน มิ.ย. 2014 และสามารถกลับคืนสู่ตลาดเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งได้เริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่ในอดีตเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ทั้งนี้ เศรษฐกิจโปรตุเกสฟื้นจากภาวะถดถอยอย่างรุนแรงและการว่างงานลดลงอย่างมากจากระดับในช่วงวิกฤต มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังประสบผลสำเร็จ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลมาโดยตลอดสามารถฟื้นกลับมาเป็นบวก อย่างไรก็ตาม โปรตุเกสยังเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่อาจชะลอลง

5.2 IMF ยินดีที่รัฐบาลโปรตุเกสยืนยันรักษาเป้าหมายการขาดดุล งปม. ปี 2015 ที่ระดับร้อยละ 2.7 ของ GDP และเรียกร้องให้โปรตุเกสยึดมั่นกับมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การเก็บภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ และตลาดแรงงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

5.3 IMF ชื่นชมการแก้ไขปัญหาธนาคาร Espirito Santo และการตั้งธนาคาร Novo Banco ขึ้นมาแทน และเสนอแนะให้รัฐบาลโปรตุเกสลดปัญหาภาระหนี้สินของภาคเอกชนเพื่อลดความเสี่ยงในภาคการเงิน รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภาคการเงินอย่างเข้มงวด

6.     นาง Maria Luis Albuquerque รมว.คลังโปรตุเกส กล่าวต่อรัฐสภาโปรตุเกส เมื่อกลางเดือน ม.ค. 2015 ว่า รัฐบาลโปรตุเกสมีแนวคิดจะเริ่มชำระคืนเงินกู้ที่ขอรับความช่วยเหลือจาก Troika เป็นการล่วงหน้า ในรูปแบบเดียวกับไอร์แลนด์ เพื่ออาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่กำลังลดลง  และยืนยันว่าโปรตุเกสมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอต่อการรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

 

Photo credit: www.dw.de