วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565
รายงานโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556
ด้วยนาย Pedro Passos Coelho นรม. โปรตุเกส ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม OECD Council เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 56 ที่กรุงปารีส ภายหลังจากที่ OECD ที่ได้จัดทำรายงาน “Report on Portugal’s Challenges” ตามคำขอของรัฐบาลโปรตุเกส ซึ่งในรายงานดังกล่าวได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่โปรตุเกส โดยเฉพาะประเด็นการปรับโครงสร้างของประเทศ สรุป่สาระสำคัญของถ้อยแถลงของ นรม. โปรตุเกสได้ดังนี้
1. นรม. โปรตุเกสระบุว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (หลังโปรตุเกสใช้เงินสกุลยูโร) สะท้อนปัญหาของประเทศและความจำเป็นต้องปรับตัวและปรับโครงสร้างประเทศ เพื่อลดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ โดยเมื่อปี 2008 OECD เผยแพร่รายงานว่า โปรตุเกสเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมทางสังคมมากที่สุดในยุโรป ทำให้เกิดปัญหาความยากจน กอปรกับปัญหาโครงสร้างประชากรโปรตุเกสที่เข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งกระทบต่อความยั่งยืนของระบบสวัสดิการของรัฐ ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจทำให้โปรตุเกสเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ต้องปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม โดยโปรตุเกสได้ดำเนินการแล้วหลายประเด็น อาทิ 1) การปฏิรูปภาคแรงงานภาครัฐและเอกชน 2) การปฏิรูปภาคการผลิต 3) การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 4) การปฏิรูปภาคการคลัง 5) การแปรรูปกิจการภาครัฐ 6) การปฏิรูปในภาคสาธารณสุข การศึกษาและระบบกฎหมาย
2. การปฏิรูปโครงสร้างของประเทศมีความจำเป็น เพื่อลดช่องว่างศักยภาพการแข่งขัน (Competitiveness gap) และเสถียรภาพภายนอก (external balance) ของโปรตุเกส ซึ่งองค์การระหว่างประเทศหลายแห่งได้ให้คำแนะนำแก่โปรตุเกสมาโดยตลอด ซึ่งในปีนี้ โปรตุเกสสามารถเกินดุลบัญชีทุน-เคลื่อนย้ายเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี และเกินดุลบัญชีการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี นอกจากนี้ การปฏิรูปฯ จะไม่เพียงสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสทางสังคมให้กระจายกว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งการปฏิรูปโครงสร้างในลักษณะนี้ถือเป็นกระบวนการทำให้ระบบเศรษฐกิจเป็นประชาธิปไตยด้วย
3. โปรตุเกสให้ความสำคัญกับการเปิดสังคมและเปิดประเทศอย่างแท้จริง และเป็นกระบวนการ “เปิด” ที่ครอบคลุมความหมายที่กว้าง ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษาหรือการค้นคว้าและพัฒนา อาชีพที่สงวนไว้ ตลอดจนการเปิดรับการค้าระหว่างประเทศ โดยเน้นการส่งออกและการรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทำให้โปรตุเกสต้องเปิดและปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเพื่อรับประโยชน์จากภาคระหว่างประเทศมากขึ้น
4. นรม.โปรตุเกสกล่าวถึงการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก Troika ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 2014 ซึ่งที่ผ่านมาโปรตุเกสมีความก้าวหน้าเป็นอย่างดีในการปฎิรูประบบการคลังและเศรษฐกิจ และโปรตุเกสต้องเตรียมความพร้อมทางเศรษฐกิจภายหลังสิ้นสุดการขอรับความช่วยเหลือฯ โดยเฉพาะการกลับคืนสู่ตลาดเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ โปรตุเกสยังคงสนับสนุนโครงการเป็นสหภาพธนาคาร (Banking Union) และสหภาพทางการเงินที่แท้จริง (True Financial Union) ภายใต้หลักการของตลาดร่วมยุโรปที่เน้นแนวคิดด้านการแข่งขันเสรีและการค้าเสรีโดยปราศจากการเลือกประติบัติในที่ตั้ง/ภูมิศาสตร์ของประเทศสมาชิกสหภาพทั้งหลาย ในการนี้โปรตุเกสจึงได้วางยุทธศาสตร์เพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดผลสัมฤทธิ์ ได้แก่ 1) การปรับลดภาษีธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปและปฏิรูประบบภาษีให้เอื้อต่อการลงทุน 2) ลดขั้นตอนและความยุ่งยากด้านกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ 3) ก่อตั้งสถาบันการเงินเพื่อให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs
5. โปรตุเกสให้ความสำคัญกับภาคการส่งออกทั้งด้านปริมาณ ประเภทสินค้า และตลาดส่งออก ในปี 2013 คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะเท่ากับ 40% ของ GDP ซึ่งสูงกว่า 28% ในปี 2008 นอกจากนี้
ในปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศนอกกลุ่ม EU เพิ่มขึ้น 20% ด้วย
6. โปรตุเกสจะยึดมั่นกับหลักการ 3 ข้อ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างประเทศในระยะยาว ได้แก่ 1) ความเท่าเทียมระหว่าง(พนักงาน)หน่วยงานภาครัฐและเอกชน 2) ความเท่าเทียมและเป็นธรรมระหว่างคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต (เยาวชน) และ 3)ความยั่งยืนทางการเงินและสังคม
7. ความสำเร็จของโปรตุเกสถือเป็นความสำเร็จของภูมิภาคยุโรป และเป็นเหตุผลที่ประเทศในภูมิภาคจะเชื่อมั่นในโปรตุเกส เช่นเดียวกับที่โปรตุเกสต้องการการสนับสนุนจากประเทศในภูมิภาค นอกจากนี้โปรตุเกสพร้อมที่จะเป็นสะพานเชื่อมประเทศในภูมิภาคที่มีปัญหาและความแตกต่างระหว่างประเทศ “North” และ “South”
8. ทั้งนี้ ในรายงานของ OECD ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2013 ระบุถึงปัญหาการขาดผลิตภาพการผลิต (productivity) และการลดลงของศักยภาพการแข่งขันของประเทศ นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 และความจำเป็นของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการส่งออก สร้าง productivity และศักยภาพ การแข่งขันให้กลับคืนมา โดยรัฐบาลโปรตุเกสต้องปฏิรูปภาครัฐให้สามารถสนับสนุนภาคเอกชนในการแข่งขัน ในตลาดระหว่างประเทศ โดยนอกจากการปฏิรูปคุณภาพของ พนง. หน่วยงานรัฐแล้ว ยังจำเป็นต้องปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ระบบภาษี ระบบการศึกษาและฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนระบบบำนาญด้วย
Photo courtesy of SICnoticias