วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
รายงานโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2556
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน ขอรายงานเกี่ยวกับมาตรการปรับลดการใช้จ่ายภาครัฐของรัฐบาลโปรตุเกส ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2013 นรม. Pedro Passos Coelho แถลงทางสถานีโทรทัศน์ของโปรตุเกสเกี่ยวกับแผนการปรับลดการใช้จ่ายภาครัฐและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.1 ปรับลดจำนวน พนง. หน่วยงานรัฐ ด้วยวิธีเกษียณอายุก่อนกำหนดโดยสมัครใจ จำนวน 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งคิดเป็น 5% ของจำนวน พนง. หน่วยงานรัฐทั่วประเทศประมาณ 600,000 คน โดยรัฐบาลจะเสนอเงื่อนไขค่าชดเชย 1.25 หรือ 1.5 เท่าของเงินเดือนต่อปีให้แก่ พนง. ที่จะถูกเลิกจ้างโดยสมัครใจ ซึ่งต้องมีอายุน้อยกว่า 59 ปี
1.2 เพิ่มชั่วโมงทำงานของ พนง. หน่วยงานรัฐ จาก 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ เป็น 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพื่อให้เท่ากับชั่วโมงทำงานของภาคเอกชน
1.3 ลดวันหยุดประจำปีของ พนง. หน่วยงานรัฐ จาก 25-32 วัน/ปี เป็น 22 วัน/ปีซึ่งเท่ากับจำนวนวันหยุดประจำปีของ พนง. ภาคเอกชน
1.4 ขยายระยะเวลาเกษียณอายุโดยได้รับบำเหน็จบำนาญเต็มจำนวนของ พนง. หน่วยงานรัฐ จาก 65 ปี เป็น 66 ปี
1.5 การเพิ่มอัตราจ่ายเงินสมทบประกันสังคม (ยังไม่ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม)
ทั้งนี้ นรม. โปรตุเกสระบุด้วยว่า จะหารือเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวกับพรรคฝ่ายค้าน ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวันจันทร์ที่ 6 พ.ค. นี้
2. นรม. Passos Coelho กล่าวถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อแสดงจุดยืนของโปรตุเกสในการปฏิบัติตามเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก Troika ทั้งนี้ รัฐบาลหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นอัตราภาษีเพิ่มเติม โดยเลือกปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐและ พนง. หน่วยงานรัฐแทน
3. มาตรการที่รัฐบาลเตรียมนำมาใช้จะลดการใช้จ่ายภาครัฐระหว่างปี 2013-2015 ประมาณ 4,800 ล้านยูโร เพื่อชดเชยมาตรการก่อนหน้านี้ซึ่งถูกศาล รธน โปรตุเกสมีคำวินิจฉัยว่าขัด รธน. ในประเด็นหลักการเลือกประติบัติระหว่าง พนง. หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามรักษาเป้าหมายการขาดดุล งปม. ในปี 2013 ให้ขาดดุลไม่เกิน 5.5% ปี 2014 ขาดดุลไม่เกิน 4% และปี 2015 ขาดดุลไม่เกิน 2.5%
4. นอกจากนี้ มาตรการฯ ยังสะท้อนทรรศนะของรัฐบาลเกี่ยวกับการปฏิรูปและปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐซึ่งขาดประสิทธิภาพ และเป็นการรับข้อเสนอแนะของ Troika ซึ่งเปิดเผยผลการศึกษาพบว่า พนง. หน่วยงานรัฐของโปรตุเกสที่เกษียณอายุและคิดเป็น 15% ของจำนวนผู้เกษียณอายุทั่วประเทศ ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญเท่ากับ 35% ของเงินบำนาญที่รัฐบาลต้องจ่าย เนื่องจากสูตรการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนที่เอื้อประโยชน์แก่ พนง. หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มทหาร นักการทูต และผู้พิพากษา
5. นาย Paulo Portas รมว. กต. ในฐานะหัวหน้าพรรค CDS-PP ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. แสดงความไม่เห็นด้วยในบางมาตรการที่เกี่ยวข้องและจะส่งผลประทบต่อผู้รับบำนาญ ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรค CDS-PP รวมทั้งเป็นกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจเพิ่มอายุเกษียณเป็น 67 ปี อย่างไรก็ตาม นาย Portas ยืนยันว่าจะให้การสนับสนุน นรม. Passos Coelho ต่อไป
6. นักวิเคราะห์ทางการเมืองของโปรตุเกสแสดงทรรศนะว่า มาตรการใหม่ดังกล่าวไม่น่าจะ ถูกศาล รธน. วินิจฉัยว่าขัด รธน. ในหลักการเลือกประติบัติ โดยเฉพาะประเด็นการเพิ่มชั่วโมงทำงานของ พนง. หน่วยงานรัฐเป็น 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งเท่าเทียมกับภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม พรรคสังคมนิยม (PS) และสหภาพแรงงานตลอดจนกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยต่อการใช้ Austerity Measures แสดงความไม่เห็นด้วยและสหภาพแรงงาน CGTP กำหนดชุมนุมประท้วงอีกครั้งในวันที่ 30 พ.ค. นี้
photo courtesy of Reuters and www.dw.de