ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส

ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.พ. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 16,009 view

 

สาธารณรัฐโปรตุเกส (The Republic of Portugal)

ข้อมูลทั่วไป

- ประเทศโปรตุเกสตั้งอยู่บนคาบสมุทรไอบีเรียทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของทวีป ยุโรป และยังเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ตะวันตกสุดของยุโรปภาคพื้นทวีป โดยทิศตะวันตกและทิศใต้ติดมหาสมุทรแอตแลนติก และทิศเหนือและทิศตะวันออกติดประเทศสเปน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเพียงประเทศเดียวของโปรตุเกส (แนวพรมแดนร่วมยาว 1,214 กม.)

- โปรตุเกสมีดินแดนปกครองตนเอง 2 แห่ง คือ หมู่เกาะมาไดย์ร่า (Madeira) และหมู่เกาะอะซอรึช (Azores) ในมหาสมุทรแอตแลนติก

- มีพื้นที่โดยรวมทั้งประเทศ 92,391 ตารางกิโลเมตร (น้อยกว่าประเทศไทย 5 เท่า)

- มีจำนวนประชากรรวมประมาณ 10.7 ล้านคน (เฉพาะในเทศบาลกรุงลิสบอนและชานเมืองมีประมาณ 2.6 ล้านคน) ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 3.13 เป็นผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคาบู แวร์ดึ บราซิล ยูเครน และอังโกลา

- ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ เป็นภาษาที่มีคนใช้มากเป็นอันดับ 7 ของโลก นอกจากนี้ ยังใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสตามแหล่งท่องเที่ยว

- นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 94) โปรเตสแต็นต์และอื่นๆ รวม ร้อยละ 6 โดยทุกศาสนาอยู่รวมกันอย่างสันติ

- โปรตุเกสมีลักษณะภูมิอากาศอบอุ่นแบบภาคพื้นสมุทร อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาวประมาณ 10 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูร้อนประมาณ 23 องศาเซลเซียส

- เมืองหลวง คือ กรุงลิสบอน มีประชากรทั้งในตัวเมืองและชานเมืองประมาณ 2.6 ล้านคน

- ส่วนเมืองสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ปอร์ตู้ (Porto) คูอิงบรา (Coimbra) บราก้า (Braga) แอวูร่า (Évoro) ซึตูบัล (Setubal) ฟารู่ (Faro) และฟุงแชล (Funchal) ทั้งนี้ ปอร์ตู้เป็นเมืองธุรกิจและเมืองท่าอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสองรอง จากกรุงลิสบอน

ประวัติศาสตร์-การเมือง-การปกครอง

* โปรตุเกสประกาศเป็นประเทศเอกราชในปี ค.ศ. 1143 ภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยอะฟองซู เฮนริคึช (Dom Afonso Henriques) กษัตริย์องค์แรกของโปรตุเกส ที่ได้ทำการสู้รบกับกองทัพมัวร์และสามารถยึดเมืองท่าที่สำคัญที่ชื่อว่าลิ สบัว (Lisboa) หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า ลิสบอน (Lisbon) มาได้เมื่อปี ค.ศ. 1147

* ในช่วงศตวรรษที่ 15 นับเป็นช่วงปีทองของโปรตุเกส เนื่องจากโปรตุเกสมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากทั้งทางด้านการทหาร การค้าขาย การเดินเรือ รวมทั้งการแสวงหาอาณานิคม

* โปรตุเกสประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในด้านการเดินเรือ เนื่องจากความได้เปรียบทางด้านที่ตั้งภูมิศาสตร์ เทคโนโลยี ความก้าวหน้า และความชำนาญด้านการเดินเรือ

* โปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ โดยผู้ที่มีชื่อเสียงทางด้านการเดินเรือและเป็นที่รู้จักอย่างดี คือ เจ้าชายเฮนรี่ (Henry the Navigator) ผู้เป็นองค์อุปถัมภ์การเดินเรือของโปรตุเกส และนายวัชกู ดา กามา (Vasco da Gama) ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศอินเดีย

* ความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการเดินเรือ ส่งผลให้โปรตุเกสเป็นหนึ่งในประเทศที่ยิ่งใหญ่และมีอาณานิคมมากมาย

* ประเทศอดีตอาณานิคมโปรเกสในอัฟริกา ได้แก่ แองโกล่า (Angola) โมซัมบิก (Mozambique) กีนีบิสเซา (Guinea Bissau) เซาตูแเมและปรินซิปึ (São Tomé e Principe) คาร์บู แวร์ดึ (Cabo Verde)

* ประเทศอดีตอาณานิคมในละตินอเมริกา ได้แก่ บราซิล

* และในเอเชีย (โปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่เข้ามาบุกเบิกเอเชีย) ประกอบด้วย เมืองกัวในอินเดีย ลังกา มะละกา มาเก๊า และหลายเมืองในอินโดนีเซีย

* ปลายศตวรรษที่ 16 จนถึงกลางศตวรรษที่ 17 (ค.ศ. 1580 – 1640) โปรตุเกสตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนเป็นระยะเวลา 60 ปี ทำให้ความรุ่งเรืองของโปรตุเกสในช่วงนั้นหยุดชะงักลง

* เมื่อโปรตุเกสสามารถกอบกู้เอกราชคืนมาจากสเปนได้ จึงสถาปนาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นมาอีกครั้ง

* จนกระทั่งปี ค.ศ. 1910 จึงได้มีการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์และจัดตั้งการปกครองแบบสาธารณรัฐ การเมืองโปรตุเกสได้ดำเนินอย่างไร้เสถียรภาพนับตั้งแต่นั้นมาเกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร ทั้งจากฝ่ายทหารและพลเรือนมาโดยตลอดจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบ เผด็จการในโปรตุเกสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1974 (The Carnation Revolution)

* และต่อมาในปี 1976 รัฐบาลโปรตุเกสได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น และได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรก

* ปัจจุบันโปรตุเกสมีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบสภาเดียว มีสมาชิกรัฐสภารวม 230 คน โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 18 เขต และมีเขตปกครองตนเอง 2 แห่ง คือ เกาะมาไดย์ร่า และหมู่เกาะอะซอรึช

* โดยมีนาย Anibal Cavaco Silva เป็นประมุขของประเทศในฐานะประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เข้ารับตำแหน่งสมัยที่สองเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2011

* นาย Pedro Passos Coelho หัวหน้าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (PSD – Social Democratic Party) เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2011 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2011 แทนนาย Jose Socrates หัวหน้าพรรคสังคมนิยม (PS – Socialist Party) ที่ลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อเดือนเมษายน 2011

การดำเนินนโยบายต่างประเทศ

* โปรตุเกสมีนโยบายสานต่อความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี (bilateral) กับประเทศในกลุ่มอียู และประเทศอดีตอาณานิคมซึ่งใช้ภาษาโปรตุเกส อาทิ บราซิล อังโกลา และโมซัมบิก

* สำหรับประเทศในเอเชีย โปรตุเกสให้ความสำคัญกับจีนและอินเดีย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการรองรับการส่งออกของโปรตุเกส รวมทั้งโอกาสที่นักธุรกิจโปรตุเกสจะเข้าไปลงทุนในประเทศทั้งสองมีค่อนข้าง สูง

* ในขณะเดียวกันก็รักษาความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาให้เป็นไปอย่างราบรื่นและสม่ำเสมอ

* ในกรอบพหุภาคี (multilateral) โปรตุเกสให้ความสำคัญและพยายามเพิ่มบทบาทของตนเองใน UN, EU, และ NATO โดยโปรตุเกสมีส่วนร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของ NATO อย่างต่อเนื่อง

* ในส่วนของ EU โปรตุเกสได้รับตำแหน่งประธาน EU ในช่วงครึ่งหลังของปี 2007 อีกทั้งยังมีความสนใจที่จะเป็นตัวแทนด้านการต่างประเทศของ EU

* เมื่อเดือน ตุลาคม 2010 โปรตุเกสได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกประเภทไม่ประจำของ UNSC วาระปี ค.ศ. 2011 – 2012

* อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมุ่งเน้นนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุก เช่น economic diplomacy เพื่อแสวงหาตลาดส่งออกใหม่และแหล่งพลังงานราคาถูก โดยเฉพาะกับเวเนซูเอลา อังโกลา และลิเบีย ในขณะที่ยังให้ความสำคัญกับหลักการประชาธิปไตย การละเมิดสิทธิมนุษยชน เสรีภาพพื้นฐาน และปัญหาการคอรัปชั่น

ด้านเศรษฐกิจ

* ระบบเศรษฐกิจของโปรตุเกสเป็นระบบเศรษฐกิจเสรี (Free Market Economy)

* โปรตุเกสเข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรป (The European Economic and Monetary Union - EMU) ในปี 1998

* และเริ่มใช้เงินสกุลยูโรเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2002 ร่วมกับ 11 ประเทศใน EU (ปัจจุบันมี 17 ประเทศ)

* ในช่วง 2 ทศวรรษที่โปรตุเกสเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีรากฐานอยู่ในภาค เกษตรกรรม มาอยู่บนพื้นฐานของภาคบริการมากขึ้น

* รัฐบาลประสบความสำเร็จในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและให้เสรีภาพในภาคธุรกิจหลักๆ ของระบบเศรษฐกิจ เช่น การเงิน และโทรคมนาคม

* GDP ในปี 2012 อยู่ที่ 210,620 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับปี 2011

* GDP per Capita ปี 2012 เท่ากับ 19,768 ดอลลาร์สหรัฐ/คน

* อัตราการว่างงานในปี 2012 อยู่ที่ร้อยละ 15.4%

เศรษฐกิจโปรตุเกสก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ภายหลังโปรตุเกสเข้าสู่ Euro Zone ก็ได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณเกินตัว ทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นถึงระดับสูงที่สุดในปี ค.ศ. 2009 นอกจากนี้ โปรตุเกสยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ กฎหมายแรงงานให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างมาก กระบวนการยุติธรรมมีความล่าช้า และภาคราชการมีขนาดใหญ่และไม่ยืดหยุ่น ตลอดจนประชาชนโปรตุเกสส่วนใหญ่ยังขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป แต่โปรตุเกสไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยนโยบายการเงินของตนเองผ่านการลดค่าเงินของตนเอง เนื่องจากใช้ระบบเงินสกุลเงินยูโรร่วมกับประเทศอื่น ทำให้ไม่สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างรายได้จากการส่งออก

ตั้งแต่ปลายปี 2009 – ต้นปี 2011 โปรตุเกสประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก จนในช่วงต้นปี 2011 โปรตุเกสถึงจุดเปลี่ยนแปลงใหญ่ คือ อัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลสูงเป็นประวัติการณ์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของโปรตุเกสลง รวมถึงธนาคารพาณิชย์ของโปรตุเกสพร้อมใจกันออกมาเตือนรัฐบาลฯ ว่าจะไม่ซื้อหนี้สาธารณะของรัฐบาลอีกต่อไป สถานการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การประกาศขอรับความช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลจาก Troika (สหภาพยุโรป / ธนาคารกลางยุโรป / IMF) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2011 โปรตุเกสได้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน มูลค่า 78,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การปฏิบัติตามเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก Troika
รัฐบาลโปรตุเกสตัดสินใจปฏิบัติตามคำแนะนำของ Troika ในการขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน โดยใช้มาตรการเข้มงวดทางการคลัง “austerity measures” โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ด้านแรงงาน – ลดผลประโยชน์เงินชดเชยการว่างงาน ลดเพดานจำนวนเงินที่รัฐจ่ายชดเชยการว่างงาน ปฏิรูปกฎหมายแรงงานให้เลิกจ้างแรงงานได้ง่ายขึ้น ลดวันหยุดและวันลาพักผ่อน ตัดโบนัสวันพักร้อนและคริสต์มาสของ พนง. หน่วยงานรัฐและผู้ได้รับบำนาญ เป็นต้น
ด้านภาษี - ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 6 % หรือ 13 % เป็น 23 % และขึ้นภาษีการโอนทรัพย์สิน ภาษีรถยนต์ ภาษีสรรพสามิตร ภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีรายได้จากการลงทุน (Capital gain)
ด้านธนาคารและสถาบันการเงิน – เงินช่วยเหลือจาก Troika จำนวน 12,000 ล้านยูโร นำไปเพิ่มทุนและสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในโปรตุเกส
แปรรูปกิจการของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ โดยได้ขายหุ้นบริษัทพลังงาน EDPบริษัทโครงข่ายการจ่ายพลังงานไฟฟ้า REN ให้แก่บริษัทจากจีน และยังมีแผนจะแปรรูปกิจการของรัฐอื่น ๆ ได้แก่ สายการบิน TAP / การท่าอากาศยาน / บริษัทน้ำมัน Galp / การรถไฟ / ไปรษณีย์ / การประปา เป็นต้น
ปฏิรูประบบราชการ ลดจำนวน พนง. หน่วยงานรัฐ / ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น / ปรับลดหรือยุบรวมเทศบาลและองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น

ภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ

* โปรตุเกสเป็นประเทศขนาดย่อมและไม่มีทรัพยากรมากนัก เดิมเป็นประเทศเกษตรกรรมและต้องนำเข้าพลังงาน

* การพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนรากฐานการเกษตรและการประมง มาเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ

* โปรตุเกสไม่มีอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมหลักของโปรตุเกส ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง ไม้ ไม้ก๊อก (cork) กระดาษและสิ่งพิมพ์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก

ยาง แร่โลหะ แร่อโลหะ อุปกรณ์การขนส่ง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โดยโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาป้อนโรงงาน

* ดังนั้น โปรตุเกสจึงสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมมาลงทุนในโปรตุเกสในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (ร้อยละ 32) ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก (ร้อยละ 30) การพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 23.5) รวมถึงด้านการเงิน (ร้อยละ 4.4) และการสื่อสาร/คมนาคมขนส่ง (ร้อยละ 3.6)

* สหภาพยุโรปเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนโดยตรง (FDI) สำคัญที่สุดของโปรตุเกสหรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของการลงทุนทั้งหมด

* โดยเยอรมนีเข้ามาลงทุนสูงสุด (ร้อยละ 20) นอกจากนั้น ยังมีสหราชอาณาจักร (ร้อยละ 15.6) สเปน (ร้อยละ 13.6) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 13.4) และฝรั่งเศส (ร้อยละ 12.8)

* สำหรับประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรปที่เข้ามาลงทุนสูงที่สุด ได้แก่ แคนาดา (ร้อยละ 2.1)

การค้าระหว่างประเทศ



ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของโปรตุเกสในปี 2012 (มกราคม-ตุลาคม)
ส่งออก 49.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นำเข้า 60.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี อังโกล่า สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม บราซิล จีน ไนจีเรีย

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร ไวน์ เสื้อผ้า รองเท้าพลาสติกและยาง เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ ไม้ก๊อก ผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสัตว์

สินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ เครื่องจักร ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เกษตร อุปกรณ์คอมพิวเตอร์





การไฟฟ้าและพลังงานโปรตุเกส

รัฐบาล โปรตุเกสให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาเทคโนโลยีด้านไฟฟ้าและพลังงาน เพราะถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทาง ด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิตด้านพลังงาน (Energy cost) รวมไปถึงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ลดการปล่อยมลพิษต่อสภาพแวดล้อม) และการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ และที่สำคัญคือ การลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานนอกประเทศ

การไฟฟ้าโปรตุเกส

โปรตุเกส ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีที่หลากหลาย อาทิ ถ่านหิน (Coal) ก๊าซธรรมชาติ (Gas) น้ำมัน (Fuel) พลังงานน้ำ (Hydro Power) พลังงานลม (Wind Power) พลังงานชีวภาพ

(Biomass Power) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) พลังงานคลื่นทะเล (Wave Power) และพลังงานความร้อนจากใต้ดิน (Geothermal Power โดยเฉพาะที่หมู่เกาะอะซอรึช)

ปัจจุบันกลไกการผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในโปรตุเกสอยู่ภายใต้การแข่งขันเสรี (Fully open to competition) โดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ของโปรตุเกส คือ EDP – Electricity of Portugal ซึ่งมีการดำเนินงานในรูปบริษัทเอกชน โดยรัฐถือหุ้น 21% (อีก 79% เป็นผู้ถือหุ้นเอกชนทั่วไป) กิจกรรมหลักของ EDP คือ การผลิต จัดส่ง และจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการกิจการก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโปรตุเกส (และสเปน)

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โปรตุเกสมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.6 ต่อปี ทั้งนี้ กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในโปรตุเกสทั้งหมดสามารถจำแนกตามแหล่งพลังงานที่ใช้ได้ดัง นี้

* จากถ่านหินร้อยละ 22

* จากก๊าซธรรมชาติร้อยละ 21

* จาก Renewable Energy sources (ยกเว้นพลังงานน้ำ) ร้อยละ 20

* จากพลังงานน้ำร้อยละ 19

* จากการนำเข้าร้อยละ 15

* จากน้ำมันร้อยละ 3

แหล่งพลังงานหมุนเวียน

โปรตุเกสเป็นประเทศที่ขาดแคลน (มีน้อย) ทรัพยากรพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ จึงต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) โดยเฉพาะ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่เมือง Moura เขต Alentejo ทางตอนใต้ของประเทศ

EDP เป็นผู้ประกอบการด้านพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในคาบสมุทรไอบีเรีย ทั้งนี้ EDP ได้มีความร่วมมือและร่วมลงทุนกับหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกาและบราซิล

การที่ EDP ให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนใน Renewable Energy นี้ EDP มียุทธศาสตร์สำคัญอันหนึ่ง คือ การรักษาสภาพแวดล้อม โดยต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด



ด้านการท่องเที่ยว



โปรตุเกสเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของชาวยุโรปเหนือ เนื่องจากโปรตุเกส เป็นประเทศที่สวยงาม มีอากาศอบอุ่น ฤดูหนาวไม่หนาวจัด และทางภาคใต้ของโปรตุเกสมีอากาศอบอุ่นตลอดปี รวมถึงความสะดวกสบายในการเดินทาง ทั้งทางเครื่องบิน รถยนต์ และรถไฟ

ถึงแม้ว่าประเทศโปรตุเกสกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและนักท่องเที่ยวที่มาโปรตุเกสลดลง แต่ในปี 2011 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวโปรตุเกสทั้งปี 14.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3.8%

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศยุโรป ได้แก่ สเปนอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และไอร์แลนด์ ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาจากนอกทวีปยุโรป ได้แก่ บราซิล และสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากโดยได้ลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และประกาศแผน 10 ปี ในปี 2006 เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวใน GDP และเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีคุณภาพในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยตั้งเป้าหมายใน 7 พื้นที่ต่างกันคือ Algarve, Alentejo, Douro, Serra da Estrela, Porto Santo, Madeira และ Azores และมีนโยบายเสริมสร้างแบรนด์ Portugal Tourism





ด้านวัฒนธรรม

โปรตุเกสได้รับอิทธิพลจากหลากหลายอารยธรรมที่เข้ามาปกครองดินแดนแห่งนี้ทำให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น สามารถแบ่งออกได้เป็น

สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมแบบ Manueline เกิดขึ้นในสมัยยุคการเดินเรือเป็น การนำสิ่งที่นักเดินเรือได้ไปพบเห็นมาจากดินแดนโพ้นทะเลมาถ่ายทอดลงบนงาน สถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องวาดลวดลาย Azulejo ซึ่งมีอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมแขกมัวร์

วรรณคดี โดยเป็นวรรณคดีตะวันตกยุคแรกๆ นักเขียนและกวีที่มีชื่อเสียง อาทิ Luís deCamões (กวีเอก) Almeida Garrette (กวียุคจินตนิยม) Fernando Pessoa (กวียุคทันสมัย) José Saramago (นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี ค.ศ. 1998)

ดนตรี มีหลายประเภท แต่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่สุดคือดนตรีฟาดู้ (Fado) ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้าน เนื้อหาอาลัยอาวรณ์ในโชคชะตา ร้องคู่กับกีตาร์โปรตุเกส นักร้องเพลงฟาดู้ที่มีชื่อเสียง อาทิ Amália Rodrigues และ Marisa dos Reis Nunes

กีฬา ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประเทศ ทีมที่มีชื่อเสียง เช่น เบงฟิก้า(Benfica) สปอร์ตติ้ง (Sporting) เอฟ.ซี. ปอร์ตู้ (F.C.Porto) และนักเตะโปรตุเกสระดับนานาชาติ ลูอิช ฟิกู้ (Luís Figo) และคริสเตียนู โรนัลดู (Christiano Ronaldo) ในปี ค.ศ. 2004 โปรตุเกสเคยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลยูโรเปี้ยนคัพ นอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงในกีฬารักบี้อีกด้วย

อาหาร มีหลากหลายชนิดและจากเนื้อสัตว์เกือบทุกประเภท นิยมรับประทานซุป และจาน หลักที่มีข้าวและมันฝรั่งเป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ นิยมนำปลาค๊อดตากแห้ง (ภาษาโปรตุเกสเรียก Bacalhau) มาประกอบอาหารหลากเมนู ทั้งนี้ ขนมหวานโปรตุเกสยังมีชื่อเสียงด้วย โดยเฉพาะทาร์ตไข่ (Pastel de Nata) และขนมที่ทำมาจากไข่แดงและน้ำตาล ซึ่งนิยมรับประทานร่วมกับกาแฟ (ชาวโปรตุเกสดื่มกาแฟมากถึง 5 – 8 แก้วเล็ก ต่อวัน)



ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส

* โปรตุเกสมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสกลุ่มแรกเดินทางถึงประเทศไทยในปี ค.ศ. 1511 ซึ่งทำให้เกิดการติดต่อสัมพันธ์กันทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้า สังคม การเมือง และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม สรุปแล้วโปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เริ่มเข้ามาติดต่อกับไทย มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของบุคคลสำคัญระหว่างกันมาตลอด

* ในด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง ไทยกับโปรตุเกสไม่มีปัญหาใดๆ ระหว่างกัน ในเวทีระหว่างประเทศก็มองปัญหาในทิศทางเดียวกันและให้ความสนับสนุนซึ่งกัน และกันมาโดยตลอด



การค้าไทย – โปรตุเกส (2012) จากข้อมูล / สถิติของ พณ.



1. มูลค่าการค้ารวม 182.7 ล้านดอลลาร์ฯ ไทยส่งออกมูลค่า 113.73 ล้านดอลลาร์ฯ และไทยนำเข้ามูลค่า 68.98 ล้านดอลลาร์ฯ ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้า 44.75 ล้านดอลลาร์ฯ

2. สินค้าส่งออกสำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์และเม็ดพลาสติก (2) ผลิตภัณฑ์ยาง (3) รองเท้าและชิ้นส่วน (4) รถยนต์และส่วนประกอบ (5) เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ

3. สินค้านำเข้าสำคัญจากโปรตุเกส 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อุปกรณ์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ (2) ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ (3) เครื่องนุ่งห่ม (4) เครื่องจักรและส่วนประกอบ(5) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ

4. สินค้าและบริการที่ไทยควรส่งเสริมและสนับสนุน ได้แก่ สินค้าหมวดอาหาร อาหารสำเร็จรูป ปลาและอาหารทะเล เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก ธุรกิจร้านอาหารไทย และศูนย์ประกอบการสปาและนวดแผนไทย

5. ปัญหาในการเจาะตลาด/ทำธุรกิจในโปรตุเกส คือ (1) ความสนใจจากผู้ส่งออกไทยยังมีน้อย (2) ตลาดค่อนข้างเล็กและมีกำลังซื้อไม่มาก (3) อุปสรรคด้านภาษา



การลงทุนของไทยในโปรตุเกส

บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) เป็นเจ้าของกิจการโรงงานผลิตปลากระป๋อง European Seafood Investments Portugal (ESIP) เมือง Peniche ซึ่งผลิตปลาซาร์ดีนและแม็คเคอเรลกระป๋องภายใต้ “MWBrands” ส่งออกไปยังหลายประเทศในยุโรป ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น



แรงงานไทยในโปรตุเกส

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีคนงานไทยเข้ามาทำงานในโปรตุเกสมากขึ้น ขณะนี้มีประมาณ 700 คน ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labour) ทำงานในภาคเกษตร ปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้ให้กับบริษัทของโปรตุเกส หรือบริษัทร่วมลงทุนระหว่างโปรตุเกสกับประเทศยุโรปอื่นๆ คนงานเหล่านี้มีบริษัทจัดหางานเป็นนายหน้านำเข้ามา และต้องเสียค่าหัวค่อนข้างสูง ประมาณ 300,000 - 350,000 บาท นอกเหนือจากนี้ ก็เป็นคนไทยที่ทำงานให้กับร้านอาหารไทย (ปัจจุบันมีประมาณ 10 ร้าน) และร้านนวดแผนไทยหรือสปา (ปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น)



ความตกลงที่ไทยและโปรตุเกสมีระหว่างกัน

ความตกลงที่ลงนามแล้ว

*ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม

*สนธิสัญญาแลกเปลี่ยนนักโทษ

*ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

*ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการบิน

*ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี



การเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 500 ปี

ในโอกาสที่ไทยและโปรตุเกสมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 500 ปีในปี 2011 ทั้งสองฝ่ายได้จัดการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในทั้งสองประเทศ โดยฝ่ายไทยได้มีการตั้ง คกก.เฉลิมฉลอง คสพ. โดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นฝ่ายเลขานุการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ ตัวอย่างกิจกรรมที่จัดขึ้น ได้แก่
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนโปรตุเกส ระหว่างวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2012 เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดศาลาไทย มอบให้แก่เทศบาลกรุงลิสบอน และทรงดนตรีโหมโรงร่วมกับคณะนักดนตรีจากกรมศิลปากร ในงานแสดงทางวัฒนธรรมไทยที่หอประชุมพิพิธภัณฑ์ตะวันออก
การจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ 500 ปี ระหว่างไทย-โปรตุเกส
การแลกเปลี่ยนการจัดนิทรรศการศิลปะและวัตถุโบราณ ทั้งที่ไทยและโปรตุเกส
การจัดตั้งชมรมคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสในประเทศไทย
การจัดมุม Thai Corner ณ พิพิธภัณฑ์ และสถานศึกษาในประเทศโปรตุเกส
การประพันธ์บทเพลงที่ระลึกเพื่อฉลองโอกาสครบรอบความสัมพันธ์
การจัดทำตราสัญลักษณ์ฉลองโอกาสครบรอบความสัมพันธ์
การจัดทำแสตมป์ที่ระลึกครบรอบความสัมพันธ์
การจัดงานเทศกาลอาหารและขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสในกรุงลิสบอน
การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประเทศไทยและความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส การแสดงทางวัฒนธรรมที่โปรตุเกส
การจัดแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชนกระชับความสัมพันธ์
การจัดทำเข็มกลัดธงชาติไทยและโปรตุเกส



แนวทางความสัมพันธ์ในอนาคต

ไทยและโปรตุเกสมีพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ไทยจึงสามารถใช้โปรตุเกสเป็นสะพานหรือจุดเชื่อมโยงสำหรับสินค้าและการลงทุนของไทยไปยังประเทศอดีตอาณานิคมของโปรตุเกสที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ บราซิล อังโกลา และโมซัมบิก

สถานเอกอัครราชทูตฯ มีแผนงานจะต่อยอดความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส ผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อาทิ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านวัฒนธรรมและอาหารไทย การจัดกิจกรรม Roadshow ประเทศไทยในส่วนภูมิภาคของโปรตุเกส ความร่วมมือทางวิชาการและวัฒนธรรมกับหน่วยงานโปรตุเกสที่สนใจประเทศไทย เป็นต้น





สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน

กุมภาพันธ์ 2556