บทความเกี่ยวกับมาตรการเข้มงวดทางการคลังที่เผยแพร่ในนิตยสารรายสัปดาห์ Visao

บทความเกี่ยวกับมาตรการเข้มงวดทางการคลังที่เผยแพร่ในนิตยสารรายสัปดาห์ Visao

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ต.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,029 view

รายงานเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน

นิตยสารรายสัปดาห์ Visão ของโปรตุเกส ฉบับวันที่ 4-10 ต.ค. 2012 ได้นำเสนอบทความ “Alternative Paths to Austerity” เขียนโดย นาง Alexandra Correia ซึ่ง สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าเป็นบทความที่น่าสนใจและสะท้อนมุมมองของภาคประชาชนและสื่อมวลชนของโปรตุเกสเกี่ยวกับ Austerity measures ของรัฐบาลโปรตุเกส สรุปสาระสำคัญของบทความดังกล่าว ดังนี้

1. ผู้เขียนบทความกล่าวถึง Austerity measures ของรัฐบาลโปรตุเกส และยกตัวอย่างมาตรการของประเทศอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งออกมาตรการรูปแบบต่างๆ ที่โปรตุเกสไม่ได้ทำ ดังนี้

1.1 ฝรั่งเศส – รัฐบาลฝรั่งเศสเตรียมออกมาตรการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 75% ของชาวฝรั่งเศสที่มีรายได้ต่อปีเกิน 1 ล้านยูโร ส่วนผู้ที่มีรายได้ต่อปีเกิน 150,000 ยูโรจะต้องจ่ายภาษี 45% และเมื่อรวมกับเงินสมทบประกันสังคมและภาษีอื่นๆ แล้ว บุคคลกลุ่มนี้ต้องจ่ายภาษี 62.2% ทั้งนี้ นักวิชาการของโปรตุเกสให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวมีผลทางการคลังสาธารณะ เนื่องจากเป็นเครื่องมือกระจายรายได้ และเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายของกลุ่มประชาชนที่ยากจน นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวและอีกหลายมาตรการที่เสนอในแผน งปม. ปี 2013 มีลักษณะเชิงสัญลักษณ์ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อยไม่ได้รับภาระแต่เพียงกลุ่มเดียว ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกที่ชาวโปรตุเกสเผชิญอยู่ในขณะนี้

1.2 เยอรมนี – นายจ้างและลูกจ้างของเยอรมนีมีความตกลงกันในการกระตุ้นการจ้างงาน โดยลดชั่วโมงการทำงานและค่าล่วงเวลา นอกจากนี้ เมื่อปี 2009 รัฐบาลเยอรมนีได้ออกมาตรการเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโดยการลดภาษีและการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้แก่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

1.3 สเปน – รัฐบาลสเปนมีแนวคิดจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการใช้จ่าย ภาครัฐ แต่ในที่สุดต้องใช้มาตรการเข้มงวดทางการคลัง โดยการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มและงดการขึ้นเงินเดือน พนักงานหน่วยงานรัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสเปนพยายามเจรจากับบริษัทน้ำมันเพื่อไม่ให้ขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ นาย Castro Caldes นักเศรษฐศาสตร์ชาวโปรตุเกสมีความเห็นว่า แม้มาตรการดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการบริหาร งปม. แต่มีความสำคัญอย่างมาก (ทางจิตวิทยา) ต่อประชาชนทั่วไป

2. นาย Jose Reis คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคอิมบรา ของโปรตุเกส วิจารณ์ว่า รัฐบาลโปรตุเกสไม่ได้มีมาตรการใดๆ (เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือช่วยเหลือประชาชนในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ) และเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการบางอย่าง เช่น การยกเลิกการตัด/ปรับลดเงินเดือนของแรงงานเพื่อให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโต การคงฐานเงินเดือน (ไม่ปรับลด) ของแรงงานเป็นเวลา 5 ปี การส่งเสริมศักยภาพการส่งออกของภาคเอกชน เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลโปรตุเกสให้ความสำคัญกับการมองแต่เพียง “ภาพใหญ่” เนื่องจากความสะดวกที่จะประกาศใช้มาตรการต่างๆ เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ฯ เป็นต้น

แต่รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงรายละเอียดในงบประมาณและรายการใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและสามารถตัดได้ของกระทรวง เทศบาล รัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ  ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก

3. ผู้เขียนตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจโปรตุเกสจะเติบโตอย่างไรหากไม่มีการลงทุนภาครัฐ และไม่มีเงินทุนในภาวะที่โปรตุเกสมีหนี้สาธารณะจำนวนมาก นาย Castro Caldes ให้ความเห็นว่า การไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจาก ตปท. และแปรรูปกิจการภาครัฐไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา ทั้งนี้ การขาดดุลงบประมาณเป็นผลของการจ่ายหนี้ที่โปรตุเกสได้ก่อไว้ในอดีต และไม่ช้าก็เร็วจะมีการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะของโปรตุเกส เพื่อให้มีเงินใช้ในการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ในกรณีของกรีซ การปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะไม่ประสบความสำเร็จและไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ไอซ์แลนด์ได้แสดงตัวอย่างของทางเลือกของประชาชนที่ “ไม่มีอะไรจะเสีย” และประสบความสำเร็จ โดย ปชช.ไอซ์แลนด์ลงประชามติไม่ให้รัฐบาล “อุ้ม”ธนาคารที่ประสบปัญหา และรัฐบาลจะเข้าไปดูแลในบางประเด็นเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ฝากเงิน และไม่ให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาคการเงินโดยรวม

4. สำหรับโปรตุเกส นาย Jose Reis ระบุว่า การตัด/ปรับลดรายได้ของแรงงานเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากส่งผลกระทบทางลบต่อความต้องการใช้จ่ายของ ปชช. ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น ตลอดจนทำให้ภาคเอกชนล้มละลาย ทั้งนี้ ผู้เขียนได้อ้างข้อเขียนของนาย Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล ว่า Great Depression (ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ได้ให้บทเรียนว่า มาตรการเข้มงวดทางการคลังไม่ใช้นโยบายที่ดีในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก แต่ปัจจุบันไม่มีใครสนใจบทเรียนในอดีตนี้

5. โปรตุเกสต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากการขึ้นภาษี การลดลงของรายได้ที่ใช้จ่ายได้ของครัวเรือนและเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างจากหลายประเทศในยุโรป แต่สิ่งที่ประเทศอื่นแตกต่างจากโปรตุเกส คือ ทุกคนในสังคมต้องแบ่งปันผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ (แต่ในกรณีโปรตุเกสคนชั้นกลางและคนยากจนมีความคิดว่า กลุ่มผู้มีฐานะและเจ้าของกิจการต่างๆ ไม่ได้รับผลกระทบและแบ่งปันผลกระทบมากนัก) สำหรับโปรตุเกส รัฐบาลควรศึกษามาตรการของประเทศอื่นๆ (ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม สหราชอาณาจักร เยอรมนี สเปน และสหรัฐฯ) ซึ่งหากนำมาปรับใช้ อาจทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของโปรตุเกสดีขึ้น