รายละเอียดมาตรการ Austerity measures เพิ่มเติมของรัฐบาลโปรตุเกส และสถานการณ์ของเศรษฐกิจโปรตุเกส

รายละเอียดมาตรการ Austerity measures เพิ่มเติมของรัฐบาลโปรตุเกส และสถานการณ์ของเศรษฐกิจโปรตุเกส

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ต.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 3,386 view

รายงานเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2555 โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน

สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอรายงานเกี่ยวกับรายละเอียดของ Austerity measures เพิ่มเติมของโปรตุเกส และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโปรตุเกส ดังนี้

            1.  เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 55 นาย Vitor Gaspar รมว.คลังโปรตุเกสแถลงรายละเอียดของ Austerity Measures เพิ่มเติม ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2013 และได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว รายละเอียดสำคัญของมาตรการฯ มีดังนี้

                                    1.1 ลดจำนวนขั้นของฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Tax brackets) จาก 8 ขั้น เหลือ 5 ขั้น ทำให้ผู้เสียภาษีส่วนใหญ่จะต้องเสียภาษีในขั้นภาษีที่สูงขึ้น และรัฐบาลยังเก็บภาษีเพิ่มอีก 4% สำหรับรายได้ต่อปี ทำให้อัตราภาษีโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากเดิมเฉลี่ย 9.8% เป็น 13.2% หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 34.6% นอกจากนี้ ผู้เสียภาษีในขั้นสูงสุดจะถูกเรียกเก็บ Solidarity surcharge เพิ่มขึ้นอีก 2.5% ด้วย

                                                1.2 เพิ่มอัตราภาษีนิติบุคคลสำหรับกิจการที่มีกำไรต่อปีมากกว่า 7.5 ล้านยูโร

                                                1.3 เพิ่มอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding tax) เป็น 28%

                                    1.4 พนง.หน่วยงานรัฐจะได้รับโบนัส 1 เดือน (จากเดิมได้รับโบนัส 2 เดือนและถูกตัดทั้งหมดในปี 2012) ส่วนผู้รับบำนาญจะได้รับเงินโบนัสเท่ากับ 1.1 เดือน

                                    1.5 รัฐบาลจะเจรจากับบริษัทร่วมทุนกับภาครัฐหรือบริษัทที่ได้รับสัมปทานสาธารณูปโภค (โดยเฉพาะทางหลวง/ทางด่วนต่างๆ) เพื่อปรับลด งปม. การใช้จ่ายภาครัฐ

             2. รมว. คลังโปรตุเกสกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2013 รัฐบาลคาดว่า อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 16.4% แต่อัตราการว่างงานในกลุ่มเยาวชนปรับลดลงเล็กน้อย

             3. นอกจากนี้ รมว. คลังโปรตุเกสแจ้งด้วยว่า โปรตุเกสประสบความสำเร็จกลับเข้าสู่ตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศ โดยได้ดำเนินการ swap พันธบัตร เพื่อยืดระยะพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนจากกันยายน 2013 เป็นตุลาคม 2015 และได้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ต่ำกว่าเดิม ทั้งนี้ นับแต่โปรตุเกสขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก Troika ในปี 2011 เป็นต้นมา รัฐบาลไม่ได้ระดมเงินผ่านตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศ มีเพียงการขายตั๋วเงินคลัง (Treasury bills) หรือพันธบัตรระยะสั้น เท่านั้น   

             4. สื่อมวลชนโปรตุเกสนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก Troika ว่า มีความเป็นไปได้ที่การสิ้นสุดการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินฯ อาจถูกยืดออกไปจากเดิมในปี 2013 เป็นปี 2014 เนื่องจากโปรตุเกสไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือฯ โดยเฉพาะประเด็นการขาดดุล งปม. และอาจถูกขยายไปถึงปี 2015 รวมทั้งอาจต้องขอรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมด้วย

             5. ผู้แทนภาคการเอกชนและนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจโปรตุเกสแสดงทรรศนะว่า การปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2013 จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งต้องรับภาระในการจ่ายภาษีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า ขณะนี้ค่อนข้างยากที่จะระบุว่ารายรับรัฐบาลจากภาษีซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เกิดจากอัตราภาษีที่สูงเกินไปหรือเกิดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากการตัด/ปรับลดเงินเดือน พนง. หน่วยงานรัฐทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลงอย่างมาก และมีความเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจโปรตุเกสอยู่ใกล้จุดที่การขึ้นอัตราภาษีเงินได้ฯ แต่ทำให้รายรับรัฐบาลลดลง

             6. สหภาพแรงงาน CGTP ซึ่งมีจำนวนสมาชิกมากที่สุดและต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดเพิ่มเติม ประกาศนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ ในวันที่ 14 พ.ย. ศกนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติมาตรการฯ โดยเสนอให้ใช้มาตรการรูปแบบอื่นแทน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ กิจการขนส่งต่าง ๆ ในเมืองใหญ่ของโปรตุเกส อาทิ รถไฟ รถไฟใต้ดิน และรถโดยสารระหว่างเมือง มีการประท้วงและหยุดให้บริการบางช่วงเวลาแล้ว

 

Photo courtesy of www.dw.de